ข่าวประชาสัมพันธ์
ยูนิเซฟจับมือภาครัฐ
ร่วมโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก
ชี้ความรุนแรงส่งผลร้ายต่อพัฒนาการเด็ก
พร้อมชูแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง”
กรุงเทพฯ 19 มกราคม 2558 – องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
หรือ ‘ยูนิเซฟ’ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เชิญชวนสังคมไทยทุกภาคส่วนร่วมโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก ในแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง” เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก
โดยมุ่งเน้นให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ยุติการกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ
พร้อมแนะแนวการเลี้ยงลูกถูกวิธี ตลอดจนวอนสังคมให้ความสนใจและร่วมเป็นหูเป็นตา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การศึกษาหลายชิ้นซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟ สะท้อนให้เห็นว่า
ความรุนแรงต่อเด็กนั้นเกิดขึ้น อย่างแพร่หลายในทุกช่วงวัย ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงสถานเลี้ยงดูเด็ก
และทัณฑสถานเด็ก* โดยเด็กกว่าร้อยละ 50 บอกว่า เคยได้รับการลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
จากพ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแลใกล้ชิด ตั้งแต่การตีหัว ตีด้วยไม้ บิดหู บางรายถูกลงโทษรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ
และมักจะถูกลงโทษบ่อยขึ้นเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กหลายคนมองว่าเป็นความ ผิดของตนเอง นอกจากนี้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐ 631 แห่ง ใน พ.ศ.2556 พบว่า
มีเด็กถูกกระทำรุนแรงสูงกว่า 19,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 52 คน
นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า
“ความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยก่อให้เกิดผลเสียในทุกระดับตั้งแต่ตัวเด็กเอง
ชุมชน ตลอดจนทำให้ประเทศสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นเป็นประจำที่บ้านและที่โรงเรียน แต่มักถูกมองข้ามหรือไม่มีใครสนใจ
โดยที่พ่อแม่ ครู และผู้ดูแลจำนวนมากอาจยังไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับพัฒนาการของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
รายงานของยูนิเซฟ พบว่า เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งมีอาการวิตกกังวลเสียใจ เสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ้นหวัง
จนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมักมีปัญหาในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม
มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนเสี่ยงต่อการเป็นผู้กระทำรุนแรงเสียเองในอนาคต**
โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กนี้
มุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก
ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม และหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี โดยส่งเสริมแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ
หยุดใช้ความรุนแรง” พร้อมแนะนำวิธีเลี้ยงดูเด็กแบบถูกวิธีด้วยการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก
ได้แก่
Confidence=ให้ความมั่นใจ Understanding=ให้ความเข้าใจ Trust=ให้ความไว้ใจ และ Empathy=ให้ความเห็นใจ โดยมีภาพยนต์ความยาว 30 และ 15 วินาที ออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆ
เพื่อแสดงให้เห็น
ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึง นอกจากนี้
จะมีการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ www.endviolencethailand.org และทางโซเชียลมีเดียพร้อมแฮชแทก
#ENDviolence
ตลอดจนจัดทำโปสเตอร์ แผ่นพับ และจัดกิจกรรมโรดโชว์ให้ความรู้แก่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กทั่วประเทศ
พลตำรวจเอกอดุลย์
แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ภาครัฐมองเห็นว่าปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน
ซับซ้อนที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของกระทรวงฯ
ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการใช้กลไกทางกฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน
และงานด้านการป้องกันโดยพัฒนาหลักสูตรอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง
เพื่อฝึกอบรมให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กและครูอาจารย์
ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถช่วยกันรายงานเมื่อพบการกระทำรุนแรงต่อเด็กได้ที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือสังคมได้ที่
1300”
----------------------------------------
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ:
องค์การยูนิเซฟ
ประเทศไทย พีอาร์
แอนด์ แอสโซซิเอส
ณัฐฐา
กีนะพันธ์ รัชนีย์
อุ่นจิตต์ หรือวรวุฒิ ชูมณี
โทร. 02
356 9478 หรือ 086 616 7555 โทร.02 651 8989
ต่อ 224, 221 ตามลำดับ