วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทศวรรษใหม่แห่งการสร้างบุคลากรเพื่อสังคม “จุดเปลี่ยนของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา”

ทศวรรษใหม่แห่งการสร้างบุคลากรเพื่อสังคม  “จุดเปลี่ยนของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา” 

ข้อคิดเห็นของการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและก้าวต่อไปในโลกยุคอนาคตของการศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการนำเสนอแนวทางแง่คิดต่าง ๆ  ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำเสนอต่อผู้สนใจโดยทั่วไปได้พิจารณาช่องทางการสร้างศักยภาพของบุคคลในยุคต่อไป

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในยุคนี้เป็นยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างรวดเร็วมาก
ในด้านความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ  มีการพัฒนารูปแบบที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่  เช่น 
ด้านเทคโนโลยี
สื่อการเรียนรู้ใหม่ ๆ  ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น  เช่น  หนังสือต่าง ๆ  ได้พัฒนารูปแบบใหม่เป็น e-book  ซึ่งในต่างประเทศได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย  ในสังคมไทยก็เช่นกันความนิยมการอ่านหนังสือออนไลน์ผ่านทางเครื่องมือสื่อสารเริ่มเป็นที่ย่อมรับมากขึ้น  อีกทั้งมีข้อดีในด้านการประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น  ลดการตัดต้นไม้ที่ใช้ทำกระดาษ  หนังสือในรูปแบบใหม่ยังจัดเก็บได้สะดวกภายในเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์
ด้านสังคม
เห็นได้ว่าสังคมในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาพปัญหาต่าง ๆ  การแข่งขันระหว่างคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น  ความเครียดในการเรียน  การทำงานสูงขึ้น  อีกทั้งสังคมยังมีการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมให้เข้าสู่สังคมเสมือนจริงหรือสังคมออนไลน์มากขึ้น  คนยุคใหม่หลายคนใช้สังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการพูดคุยสื่อสารกัน  เป็นสังคมที่ไร้พรมแดนสามารถสื่อสารกันได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ว่าแต่ละบุคคลจะอยู่ห่างไกลกันก็ไปเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร 
ด้านการเมือง
เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง  เข้าสู่รูปแบบความคิดเห็นต่างกันแบบสุดขั้ว   เกิดจากสภาพปัญหาทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และการแสดงสิทธิ  ความเสมอภาคของผู้คนในสังคมทุกภาคส่วน เพื่อลดความเลื่อมล้ำช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน  ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน  ระหว่างการตีความกฎหมายกับช่องว่างทางกฎหมาย  การปฏิบัติใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้มีอำนาจกับบุคคลธรรมดา  ระหว่างผู้มีฐานะร่ำรวยกับผู้มีฐานะด้อยกว่า  ปัญหาคนในเมืองกับคนชนบท ปัญหาการดูถูกคุณภาพชีวิตและการศึกษาของคนในสังคมที่แตกต่างกัน    ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากความเลื่อมล้ำทางสังคมสั่งสมมาช้านาน 
การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองจึงเปลี่ยนไปตามกลไกของการต่อสู้ทางความคิด  เมื่อใดก็ตามที่ความคิดของแต่ละฝ่ายเริ่มตกผลึก เมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านการปกครองก็จะก้าวสู่ระบบการปกครองที่เสมอภาคเป็นธรรมต่อสังคม
ด้านการศึกษา
รูปแบบของการศึกษาในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางด้านการศึกษาของบ้านเราทั้งด้านผู้เรียน  ที่จะต้องปรับตัวให้สามารถตามทันกับอารยประเทศ  สามารถแข่งขัน และก้าวสู่การเป็นประเทศที่เจริญทางด้านต่าง ๆ  การจะพัฒนาผู้เรียนให้ไปถึงจุดที่กล่าวไว้นั้นจุดสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การสร้างบุคลากรของชาติให้สามารถช่วยขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาอย่างมีแบบแผน  คือ  รัฐและสถาบันทางการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญในการสร้างคน  ไม่ว่าจะด้านการผลิตบุคลการทางการศึกษา  หรือบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อแรงงาน  ตอบสนองต่อสังคมในภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องเน้นให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีอุดมการณ์ในการพัฒนาสังคมร่วมกัน

ดังนั้น  “จุดเปลี่ยนของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา”  จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญด้านต่าง ๆ ดังนี้ 
1.  สร้างบุคคลให้ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
2.  สร้างบุคคลให้ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมโดยรวม
3.  สร้างบุคลากรที่สำเร็จด้านการศึกษาให้สามารถทำงานได้รูปแบบต่าง ๆ  นอกเหนือจากการทำงานสายตรง  เช่น
เมื่อจบแล้วสามารถสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเรียนรู้ได้  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นครูเฉพาะในโรงเรียน  แต่สามารถเป็นครูโดยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพครู  การทำงานในสายอาชีพต่าง ๆ  สามารถสอดแทรกจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูได้ 
ยกตัวอย่าง เช่น 
อาชีพนักผลิตสื่อการเรียนรู้   ซึ่งอาชีพนี้มีให้เห็นมานาน  แต่บุคคลที่ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวงแคบมีอาชีพประจำเป็นครูหรือาจารย์ตามสถาบันทางการศึกษาซึ่งคนนอกเข้าถึงการประกอบอาชีพนี้ได้ยาก  ถ้าหากหน่วยงานของรัฐสามารถสนับสนุนบุคลากรให้สามารถจบมาแล้วทำงานในสายนี้ได้โดยตรงจะเป็นคุณูปการที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องปฏิรูป  แต่เป็นการต่อยอดของการพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจนจับต้องได้
อาชีพนักเขียน  ซึ่งนักเขียนมีหลายรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป  การสร้างบุคลากรทางการศึกษาให้เข้าสู่วงวิชาชีพของนักเขียนมีขอบเขตเนื้อหาในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้สังคมได้หลากหลายรูปแบบผ่านความคิดสร้างสรรค์  โดยนักเขียนที่มาจากสายการศึกษาย่อมได้รับการปลูกฝังความเป็นครูที่เข้มข้น  ให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังการเรียนรู้  งานเขียนเล่านั้นย่อมจะสะท้อนรูปแบบแนวทางที่สอดแทรกสาระความรู้  ที่ช่วยสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางที่น่าจะคาดหวังได้บ้าง และเป็นการตอบสนองต่อการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ
อาชีพนักผลิตสื่อบันเทิงและธุรกิจ
ในขนาดที่ช่องทางสื่อสารที่เพิ่มขึ้น  ผู้คนในยุคปัจจุบันและอนาคตมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป  การสร้างช่องทางการเรียนรู้  ผ่านรายการทีวี  หนัง  ละคร  เพลง  เป็นอีกช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย  การผลิตบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวสู่สื่อบันเทิง  และธุรกิจเพื่อการศึกษา  ย่อมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางส่วนแบ่งของสื่อบันเทิงบางส่วนได้บ้าง  ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทางการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลาย  ปัจจุบันมีการเกิดรายการประเภทนี้พอให้เห็นอยู่บ้าง  แต่ยังขาดการเอาจริงเอาจังและความต่อเนื่องในการสนับของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

จึงเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและต่อการสร้างบุคลากรทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ  สถาบันจึงควรมีการเพิ่มเนื้อหาหลักสูตรที่ช่วยให้เกิดสิ่งเหล่านี้  อาจเพิ่มวิชาเลือกในส่วนของจัดการสอน
เรื่อง  การผลิตสื่อการเรียนรู้  ซึ่งโดยทั่วไปสถาบันทางการศึกษาได้กำหนดไว้อยู่แล้ว  เช่น  วิชา  นวัตกรรมทางการศึกษา  เทคโนโลยีทางการศึกษา  แต่ยังขาดความทันสมัย  ขาดการสอนที่ช่วยให้นิสิตได้แนวคิดในการไปต่อยอดอาชีพใหม่ ๆ  ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการการเรียนรู้ที่สอดรับต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  การพัฒนาวิชาเหล่านี้ให้นิสิตนักศึกษาสามารถผลิตสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้ได้จริง ย่อมจะส่งผลให้บุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะสาขาวิชาใดที่จบไปสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายในส่วนที่สัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้  นอกเหนือจากการผลิตครูป้อนสถานศึกษาเท่านั้น  ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมในการพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

เรื่อง  การผลิตงานเขียน  วรรณกรรม  เรื่องสั้น  นิยาย  ตำราเรียน  งานเขียนต่าง ๆ   ไม่ค่อยได้เห็นการจัดการเรียนการสอนในการสร้างบุคลากรสายการศึกษา  ให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก  มีแต่บุคลากรสายอักษรศาสตร์  หรือผู้ที่สนใจโดยส่วนตัวเท่านั้นจะก้าวสู่การผลิตงานเขียน    การเพิ่มเติมหลักสูตรในการสร้างบุคลากรทางการศึกษา น่าจะเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนดังกล่าวเข้าไปด้วย  อาจจะช่วยจุดประกายไฟให้กับนิสิตนักศึกษาสายการศึกษาได้เข้าสู่วงการสร้างสรรค์เขียนได้บ้าง  ในระยะยาวบุคคลเหล่านี้ย่อมจะเป็นอีกส่วนที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาให้สมบูรณ์ขึ้น

เรื่อง การผลิตสื่อบันเทิงทางการศึกษา  เป็นอีกส่วนที่เกี่ยวข้องใกล้ตัวกับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนในชาติ
การสร้างบุคลากรสายการศึกษา  ให้มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ได้บ้างย่อมจะช่วยให้ช่องทางการเรียนรู้และการพัฒนาคนได้หลากหลายมากขึ้น  เนื่องจากอิทธิพลของสื่อบันเทิงมีผลต่อทัศนคติ  เจตคติของคนในสังคมอย่างมาก  การสร้างบุคลากรทางการศึกษาที่เอื้อต่องานเหล่านี้ ย่อมจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคมด้วยฝีมือของผลผลิตสายการศึกษาได้มากก็น้อยตามกำลัง

หวังว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจอ่านไม่มากก็น้อย 


ขอบคุณสำหรับผู้สนใจทุกท่าน 
ทุกท่านสามารถติ และนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ 
หรือ  e-mail :  newnaew@hotmail.co.th

ผู้โพส
พยัคฆ์กูรู

วันที่โพส

19  พฤษภาคม  2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น