วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รู้จักกับองค์ประกอบส่วนหน้า ของการทำรายงานต่างๆ



พื้นฐานการทำรายงาน ไม่ว่าจะเป็นรายงานวิชาการต่างๆ ตามระดับการศึกษา หรือรายงานการวิจัย ส่วนใหญ่แล้วมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นผู้เขียนจึงใช้รูปแบบตามความถนัดของผู้เขียน สำหรับผู้ที่กำลังสนใจทำรายงานหรือต้องเตรียมตัวทำรายงานส่ง ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากคู่มือการเขียนรายงานอื่นๆ ประกอบ

ปกนอก
ส่วนสำคัญที่สุดของการทำรายงานวิชาการหรือรายงานต่าง ๆ เนื่องจากปกนอกเป็นตัวแรกที่ผู้อ่านเห็นเป็นอันดับแรกก่อนที่จะสนใจศึกษาข้อมูลภายใน หากการเขียนหัวเรื่องของปกนอกไม่น่าสนใจหรือเขียนยาว ๆ เป็นการบรรยายเล่นคำต่างๆ คงไม่ดีแน่ เพราะการเขียนหัวเรื่องของรายงานวิชาการต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา อ่านแล้วไม่จำเป็นต้องตีความ ถึงจะเป็นการตั้งชื่อหัวเรื่องปกนอกได้ดี
บอกรายละเอียดผู้ศึกษาชัดเจน
บอกรายละเอียดของหน่วยในที่สังกัดหรือจัดทำ
บอกปีที่ศึกษา

ปกใน
เหมือนกับปกนอก แต่อาจมีบางส่วนที่แตกต่างกันบ้าง ลองศึกษาจากระเบียบที่กำหนดของแต่ละหน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยงานกำหนดไม่เหมือนกัน ผู้เขียนจึงเขียนไว้กลาง ๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้กัน คือ นำปกนอกมาพิมพ์เป็นปกรอง

คำนำ
ส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้กัน แต่เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ผู้เขียนจึงอธิบายรายละเอียดให้พอเข้าใจ
คำนำเป็นการเกริ่นเรื่องที่กำลังศึกษา ศึกษาเพื่ออะไร มีความเป็นมาโดยย่ออย่างไร มีประโยชน์ต่อใคร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจโดยคร่าว ๆ พอสังเขปก่อนเข้าไปสู่เนื้อหาอื่นๆ

กิตติกรรมประกาศ
เป็นส่วนที่แสดงความขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีพระคุณต่าง ๆ นิยมแบ่งย่อหน้าประมาณ 3 - 4 ย่อหน้าตามความต้องการของผู้จัดทำรายงาน
ส่วนใหญ่จะกล่าวถึง ผู้มีพระคุณอันดับต้น ๆ ที่สำคัญก่อน จากนั้นกล่าวถึงผู้ให้ความช่วยเหลือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้ความร่วมมือ หรือจะเป็นผู้ให้กำเนิดก็แล้วแต่เห็นควรของแต่ละบุคคล เพื่อแสดงการให้เกียรติและความกตัญญูเป็นนิสัยที่คนไทยนิยมยกย่อง บางครั้งจึงมีความยาวเต็ม 1 หน้ากระดาษ
แต่ส่วนนี้ผู้อ่านไม่ค่อยให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ เป็นผลทางจิตใจของผู้จัดทำรายงานเท่านั้น

บทคัดย่อ
รายละเอียดสำคัญอีกส่วนที่มีผลต่อการอ่านเนื้อหาของผู้สนใจ เนื่องจากบทคัดย่อเป็นการสรุปเรื่องราวโดยย่อทั้งเล่มรายงาน ผู้อ่านจะอ่านจากต้องนี้ก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่ตรงกับความสนใจของผู้อ่าน หรือเขียนบทคัดย่อไม่ดี ก็ถูกสรุปรวมว่าทั้งเล่มอาจไม่มีความคุณภาพในสายตาของผู้อ่าน
การเขียนบทคัดย่อที่ดีจึงต้องเขียนให้ครอบคลุมครบองค์ประกอบ และไม่ควรเกิน 2 หน้ากระดาษ
ตัวอย่าง เช่น
บทคัดย่อ กล่าวถึง
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
วิธีดำเนินการศึกษา ประกอบด้วยกลุ่มประชากร/กลุ่มตัวอย่าง สถานที่ วิธีการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อสรุปผลของการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้น

**อ่านง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น

สารบัญ
ส่วนสำคัญมากของรายงาน เพื่อให้ทราบข้อมูลต่างๆ อยู่ในส่วนใด ง่ายต่อการเปิดอ่าน การเขียนสารบัญจึงควรมีความถูกต้องแม่นยำ เนื่องจากผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะไม่อ่านรายงานทั้งเล่มแต่จะเลือกอ่านในบางส่วนอย่างเช่น ความเป็นมา หรือสรุปผลการศึกษา เป็นต้น ผู้อ่านจึงต้องการทราบข้อมูลว่าสิ่งที่ต้องการอ่านอยู่หน้าใด การเขียนสารบัญจึงควรเช็คความถูกต้องอย่างรอบคอบ

สารบัญตางราง
เป็นส่วนของรายละเอียดของหน้ารายงานที่มีการแสดงตารางต่างๆ อย่างเช่น การแสดงผลข้อมูล ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการทดลองหรือในการศึกษา การเขียนสารบัญตาราง จึงต้องมีความละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเปิดหาข้อมูลตารางได้รวดเร็วและถูกต้องตามรายการ

สารบัญแผนภูมิ/สารบัญภาพ
เป็นการแสดงข้อมูลหน้าที่มีภาพประกอบหรือแผนภูมิประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถสืบค้นได้ตามหมายเลขหน้าของเอกสาร

ฉะนั้นองค์ประกอบส่วนหน้าจึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ผู้อ่านทราบข้อมูลของรายงานโดยรวมก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลักของรายงานที่จัดทำ


ข้อมูลอ้างอิงจาก
newnaew.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น